$this_page='press'; ?>
กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน
กรมแพทย์ทหารเรือ
ฉบับปรับปรุงวันที่ 15 มิถุนายน 2564
การติดเชื้อไวรัสโคโรนาก่อนโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการดำน้ำสคูบาไม่แตกต่างไปจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 64 ในประเทศที่ผ่านมา ลักษณะของกิจกรรมดำน้ำ การที่ต้องอยู่ใกล้ชิด และรวมเป็นกลุ่มก้อน มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ หากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการ ดังตัวอย่างที่พบเหตุการณ์ในเรือลีฟอบอร์ด (liveaboard) เนื่องด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้นอย่างมากในประเทศทำให้มีโอกาสที่นักดำจะได้รับเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่ได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัย อย่างไรก็ตามแม้มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือกระทั่งไม่มีอาการ ปอดและหัวใจของนักดำซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและเปราะบางต่อการชี้ชัดถึงสมรรถนะสุขภาพในการดำน้ำ อาจได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ และเป็นอันตรายในการดำน้ำ นักดำเหล่านี้จึงควรอย่างน้อยประเมินตนเอง เช่นประวัติเจ็บป่วยหรือพบหลักฐานการติดเชื้อโควิด-19 หรือมีประวัติมีอาการเข้าได้กับการติดเชื้อ หรือประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยต้องสงสัยแต่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย หรือมีอาการเปลี้ยเพลียไม่สามารถออกแรงได้เป็นปกติ เป็นต้น นักดำกลุ่มเหล่านี้ควรได้รับการประเมินจากแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเช่นภาพรังสีทรวงอก การทดสอบการออกกำลัง เป็นต้น
นอกเหนือจากการปฏิบัติตามวิถีชีวิตใหม่ หรือนิวนอร์มัลแล้ว วัคซีนโควิดเป็นอีกหนึ่งความหวังของนักดำน้ำในการที่จะทำให้อุตสาหกรรมการดำน้ำกลับมาใกล้เคียงสภาพปกติ อย่างน้อยก็อาจทำให้นักดำน้ำสามารถกลับไปดำน้ำได้ใกล้เคียงไลฟ์สไตล์เดิมของนักดำ แต่เนื่องจากอาจพบมีผลข้างเคียงของวัคซีน และอาจทำให้เกิดความสับสนกับการป่วยเป็นโรคเหตุลดความดันอากาศ วัคซีนในปัจจุบันหลักๆประกอบไปด้วย วัคซีนเชื้อตายหรือใช้โปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Inactivated and Protein Subunit) วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) และวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบัน ได้แก่วัคซีนโคโรนาแว็ก (Coronavac) ของบริษัทซิโนแว็ค (Sinovac) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนโควิด-19 ChAdOx1 ของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ โดยวัคซีนทั้งสองอาจพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน (adverse event following immunization; AEFI) ซึ่งอาจเกิดจากวัคซีน (adverse event) หรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (1) ให้คำแนะนำสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนไว้ว่า พบการแพ้รุนแรง หรือ แอนาฟ์แล็กซิส 5 รายต่อ 1 ล้านโดส และอาการชาหรืออ่อนแรงจากภาวะความวิตกกังวลในระหว่างการได้รับวัคซีน หรือที่เรียกว่า Immunization stress related reaction (ISRR) 43 รายต่อล้านโดส สำหรับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดยังไม่พบรายงานในประเทศที่เชื่อได้ว่าเกิดจากวัคซีน และอุบัติการณ์ของต่างประเทศพบเพียง 2.5 รายต่อประชากร 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน (2)
อาการข้างเคียงหรือผลข้างเคียง (1) หรืออาการที่คาดเดาได้ว่าอาจจะเกิดขึ้น เช่น ปวด บวม ร้อนบริเวณที่ฉีด และอาการตามระบบ อื่น ๆ เช่น ไข้ คร่ันเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ใจสั่น หมดแรง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง และเวียนศีรษะ โดย อาการเหล่านี้ จะเกิดเพียง 1–2 วันหลังได้รับวัคซีน มักเป็นไม่รุนแรง แต่บางรายอาจจะมีอาการมาก เช่น ไข้สูงและ/ หรือหนาวส่ัน จนต้องพักหรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวันได้ ต้องกินยาแก้ปวดลดไข้ นอนพัก หรืออาจต้องไปพบแพทย์ อาการชาหรืออ่อนแรงที่เป็นปฏิกิริยาของร่างการตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน (Immunization stress related reaction: ISRR) เป็นอาการทางกายที่เกิดขึ้นจริง ที่ตอบสนองต่อภาวะความเครียดในการได้รับการฉีดวัคซีนร่วมกับอาการ ข้างเคียงที่เกิดตามปกติหลังได้รับวัคซีน อาการมีได้หลากหลาย เช่น เป็นลม ปวดเกร็งท้อง คลื่นไส้ ตามัว ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว ไปจนถึง อาการทางระบบประสาท เช่น อาการอ่อนแรง ชา การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ ความผิดปกติของการทรงตัว พูดไม่ชัด อาการคล้ายภาวะหลอดเลือดสมอง หรือ ชัก โดยส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นเร็วภายในไม่กี่นาทีหลังการฉีดวัคซีน แต่อาจมีบางรายเกิดช้าเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ภายหลังการได้รับวัคซีน มักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในผู้ที่อายุน้อย นอกจากนี้อาการทางระบบประสาทอื่นที่เกิดภายหลังช้ากว่า ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงจนถึง 30 วัน อาจมีอาการที่เข้าได้กับอาการของโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ชัก หรืออาการที่มีลิ่มเลื่อดอุดตัน เช่น จ้ำเลือดผิดปกติ หรืออาการเจ็บหน้าอก อาจให้สงสัยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนโควิด หรือ VITT ด้วยเช่นกัน ซึ่งจำเป็นพบแพทย์เพื่อประเมิน
ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการศึกษาของผลกระทบจากการดำน้ำต่อความรุนแรงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อันเกิดจากผลของการอยู่ในน้ำ (immersion) ความดันที่เปลี่ยนแปลง และระดับออกซิเจนที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนผลของการสร้างภูมิคุ้มกันในการได้รับวัคซีน ที่อาจก่อให้เกิดอาการที่อาจสับสนกับโรคที่เกิดจากการดำน้ำ หากวัคซีนดังกล่าวถือว่าเป็นเภสัชภัณฑ์ใหม่ ได้รับการอนุมัติในการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิด
คำแนะนำในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดด้วยหลักฐานการศึกษา และอาจต้องปรับเปลี่ยนตามหลักฐานการศึกษาที่เพิ่มขึ้น หากแต่พอจะพิจารณาปรับแต่งจากแนวทางของต่างประเทศ (3) และตามข้อพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเบื้องต้นได้ดังนี้
1. นักดำควรได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้่อไวรัสก่อโรค ให้เร็วและเป็นหมู่ให้มากที่สุดเมื่อวัคซีนมีพร้อมตามแผนของประเทศ และการได้รับวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค DMHTT ได้แก่ Distancing-Mask Wearing-Hand Washing-Testing-Thai Chana
2. นักดำควรติดตามอาการข้างเคียง หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน และพิจารณาปรึกษาแพทย์หากมีอาการรุนแรง หรือต่อเนื่องนานกว่า 48 ชั่วโมง
3. นักดำที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีอาการทางระบบประสาท รวมถึง อาการชาหรืออ่อนแรงที่เป็นปฏิกิริยาของร่างการตอบสนองต้อการฉีดวัคซีน (Immunization stress related reaction: ISRR) ต้องรอให้อาการดังกล่าวหายสนิทเป็นปกติ อย่างน้อยไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์
4. นักดำที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวและแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำก่อนดำน้ำภายหลังได้รับวัคซีนโควิด หรือมีประวัติการเจ็บป่วย หรือสงสัยว่าเจ็บป่วยจากโควิด-19
5. นักดำที่ไม่มีความเสี่ยงควรพิจารณางดดำอย่างน้อย 7 วันภายหลังการได้รับวัคซีนในแต่ละโดสก่อนทำกิจกรรมดำน้ำ และในกรณีมีความเสี่ยงอาจพิจารณานานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 14 วัน เช่น มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาทเกิด หรือมีอาการข้างเคียงหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 48 ชั่วโมง หรือมีปัจจัยเสี่ยงและหรืออาการทางคลินิกที่แพทย์ผู้ดูแลรักษาอยู่เห็นควร หรือวางแผนการดำที่ต้องการหยุดพักลดความกด เช่นการดำทางเทคนิค เป็นต้น
6. นักดำควรงดการดำน้ำเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนได้รับวัคซีนในแต่ละโดสเพื่อลดปัญหาความสับสนของอาการที่อาจเกิดจากการดำน้ำ
7. ในกรณีที่มีอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับการดำน้ำแม้จะดำในระดับความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะอาการทางระบบประสาท ให้ปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ
เอกสารอ้างอิง
1. คณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน และกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด 19 [อินเทอร์เน็ต]. 30 พฤษภาคม 2564 [เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 2564]. เข้าถึงได้จาก: ข้อมูลนี้
2. กรมควบคุมโรค และคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน. ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดกับวัคซีนโควิด 19 [อินเทอร์เน็ต]. 31 พฤษภาคม 2564. [เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 2564]. เข้าถึงได้จาก: ข้อมูลนี้
3. Société Belge de Médecine Hyperbare et Subaquatique asbl Belgische Vereniging voor Overdruk- en Onderwater Geneeskunde vzw. Position of the Belgian Society for Diving and Hyperbaric Medicine on Diving and COVID-19 Vaccination [Internet]. 2021 [cited 2021 June 14]. Available from: This Information
22-25 May 2025 | Queen Sirikit National Convention Center (QSNCC)